มิเตอร์ไฟฟ้า ถือเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ทุกบ้านต้องมี ลองมาดู 8 เรื่องน่ารู้ของมิเตอร์ไฟฟ้า อาทิ มิเตอร์ไฟฟ้ามีกี่ขนาด และวิธีการเลือกขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับบ้านคุณ
ประเภทของมิเตอร์ไฟฟ้า
มิเตอร์ไฟฟ้า มีหลายประเภทด้วยกันดังต่อไปนี้
1. มิเตอร์ไฟสำหรับบ้านอยู่อาศัย
2. มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการขนาดเล็ก
3. มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการขนาดกลาง
4. มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการขนาดใหญ่
5. มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการเฉพาะอย่าง
6. มิเตอร์ไฟสำหรับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
7. มิเตอร์ไฟสำหรับกิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร
8. มิเตอร์ไฟสำหรับผู้ใช้ไฟชั่วคราว
มิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับบ้านที่พักอาศัยมีขนาดไหนบ้าง
มิเตอร์ไฟฟ้ามีด้วยกันหลายขนาด โดยสามารถสังเกตได้จากตัวเลขในช่องบนมิเตอร์ เช่น 5(15) A หมายความว่า เป็นมิเตอร์ไฟขนาด 5 แอมป์ สามารถใช้ไฟได้มากถึง 15 แอมป์ ขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้า มีดังนี้
ขนาดมิเตอร์ | ขนาดการใช้ไฟฟ้า |
มิเตอร์ 5(15) เฟส 1 | ไม่เกิน 10 แอมแปร์ |
มิเตอร์ 15(45) เฟส 1 | 11-30 แอมแปร์ |
มิเตอร์ 30(100) เฟส 1 | 31-75 แอมแปร์ |
มิเตอร์ 50(150) เฟส 1 | 76-100 แอมแปร์ |
มิเตอร์ 15(45) เฟส 3 | ไม่เกิน 30 แอมแปร์ |
มิเตอร์ 30(100) เฟส 3 | 31-75 แอมแปร์ |
มิเตอร์ 50(150) เฟส 3 | 76-100 แอมแปร์ |
มิเตอร์ 200 เฟส 3 | 101-200 แอมแปร์ |
มิเตอร์ 400 เฟส 3 | 201-400 แอมแปร์ |
เลือกขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าให้เหมาะกับบ้าน
ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่เหมาะสมในการใช้งานในบ้านเรือนทั่วไปนั้น จะต้องพิจารณาถึงจำนวนสมาชิกในบ้าน และจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งปัจจุบัน และในอนาคต
โดยสามารถคำนวณเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองว่าบ้านของเราเหมาะกับขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าเท่าไหร่ โดยนำกำลังไฟฟ้าอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้น (วัตต์) ซึ่งสามารถดูได้จากฉลากบนเครื่องใช้ไฟฟ้า หารด้วยความต่างศักย์ (โวลต์) และคูณด้วยจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้น และนำกระไฟฟ้าทั้งหมดมาบวกรวมกัน และคูณด้วย 1.25 (ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่อาจจะใช้มากขึ้นในอนาคต) ยกตัวอย่างเช่น
1. พัดลมตั้งพื้น 75 วัตต์ จำนวน 2 ตัว คิดเป็นกระแสไฟฟ้า (75 ÷ 220) x 2 = 0.68 แอมแปร์
2. หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ 36 วัตต์ จำนวน 6 หลอด คิดเป็นกระแสไฟฟ้า (36 ÷ 220) x 6 = 0.98 แอมแปร์
3. เครื่องปรับอากาศ 1,000 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 1,000 ÷ 220 = 4.54 แอมแปร์
4. หม้อหุงข้าว 500 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 500 ÷ 220 = 2.27 แอมแปร์
5. เตารีด 430 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 430 ÷ 220 = 1.95 แอมแปร์
6. โทรทัศน์ 43 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 43 ÷ 220 = 0.2 แอมแปร์
7. ตู้เย็น 70 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง คิดเป็นกระแสไฟฟ้า 70 ÷ 220 = 0.32 แอมแปร์
กระแสไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดรวมกันจะเท่ากับ 10.94 แอมป์ เมื่อนำมาคูณกับ 1.25 จะได้ประมาณ 13.68 แอมแปร์ ถือว่ายังสามารถใช้ขนาดเมิเตอร์ 5(15) ได้เนื่องจากยังไม่เกิน 15 แอมแปร์ และปกติเราจะไม่ได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อม ๆ กันอยู่แล้ว แต่หากเผื่อในอนาคตจะพบว่า มิเตอร์ไฟฟ้าอาจมีขนาดไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหากต้องการติดเครื่องปรับอากาศเพิ่มอีก 1 ตัว ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ให้เป็นขนาดที่ใหญ่ขึ้นด้วย เพื่อความปลอดภัย
5 ปัจจัยเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไรให้คุ้มค่า
เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไรให้เหมาะกับบ้าน และคุ้มค่ากับการใช้งานมากที่สุด ดูได้ที่นี่
คุณสมบัติของผู้ที่จะขอใช้ไฟฟ้า
ผู้ที่จะขอใช้ไฟฟ้ามีดังนี้
1. เจ้าของที่ดิน หรือเจ้าของสถานที่ใช้ไฟฟ้า
2. ผู้ขอใช้ไฟฟ้ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ใช้ไฟฟ้า
3. ผู้เช่า หรือผู้เช่าซื้อสถานที่ใช้ไฟฟ้า
4. ผู้ประกอบการในสถานที่ใช้ไฟฟ้า
เอกสารที่ผู้ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าต้องนำมาแสดง
ผู้ขอใช้ไฟฟ้าเตรียมเอกสารดังนี้ เพื่อใช้ยื่นประกอบคำร้องขอใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้า
หลักฐานการขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่
1. สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอติดตั้งการใช้ไฟฟ้า และสำเนาทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
3. สัญญาซื้อขาย (กรณีซื้อขายบ้าน), สัญญาเช่า (กรณีเช่าบ้าน)
4. หนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท (กรณีเจ้าของบ้านไม่มาดำเนินการ)
5. สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
6. สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านผู้ให้เช่า
7. ใบยินยอมผ่านที่หรือใบยินยอมในกรณีต่าง ๆ (กรณีผ่านที่ดินผู้อื่น), สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านขอผู้ยินยอม
8. ใบเสร็จค่าไฟฟ้าข้างเคียงของเสาที่จะติดตั้งมิเตอร์ (ถ้ามี)
3 ขั้นตอนขอมิเตอร์ไฟฟ้า ไม่มีเลขที่บ้าน จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ขอมิเตอร์ไฟฟ้า มีขั้นตอนอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่
ขั้นตอนการขอใช้ไฟฟ้า
1. หลังจากได้รับคำร้องขอใช้ไฟฟ้า พร้อมเอกสารประกอบครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจะเข้าไปตรวจสอบการเดินสายไฟในอาคาร หากยังไม่เดินสายไฟฟ้าให้เดินสายให้เรียบร้อยแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ
2. เมื่อตรวจสอบการเดินสายไฟฟ้าแล้วพบว่ามีการเดินสายไฟที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอใช้ไฟฟ้าชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แต่ถ้าการเดินสายไฟไม่ถูกต้อง ไม่ปลอดภัยก็จะแจ้งให้ดำเนินการแก้ไข และตรวจสอบอีกครั้ง โดยค่าธรรมเนียมนั้นการไฟฟ้าจะกำหนดไว้ตามประเภทและขนาดของมิเตอร์ที่ขอติดตั้ง
3. ผู้ขอใช้ไฟฟ้าชำระค่าธรรมเนียมและรับใบเสร็จไว้เป็นหลักฐาน
สถานที่ติดต่อเพื่อขอใช้ไฟฟ้า
ผู้ขอใช้ไฟฟ้าสามารถติดต่อและยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าทุกแห่ง
สอบถามการไฟฟ้า
กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี ติดต่อได้ที่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โทร. 1130 หรือติดต่อสอบถามได้จากเว็บไซต์การไฟฟ้านครหลวง
ต่างจังหวัด ติดต่อได้ที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โทร. 1129 หรือติดต่อสอบถามได้จากเว็บไซต์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
มิเตอร์ไฟฟ้านั้นมีหลายขนาด ซึ่งแต่ละบ้านจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกภายในบ้าน รวมถึงจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งปัจจุบันและทางที่ดีคือคิดเผื่อในอนาคตด้วย เพื่อให้สามารถใช้งานไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
cr. https://www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมิเตอร์ไฟ-แบบไหนเหมาะกับบ้านคุณ-30647