บ้านสไตล์ Nordic ที่ไม่ทิ้งความเป็นไทย

เทรนด์ในการสร้างบ้านแต่ละยุคมักมีแนวคิดหรือปรัชญาบางอย่างซ่อนอยู่ ในแบบบ้านญี่ปุ่นยุคใหม่จะแทรกแนวคิด “วาบิซาบิ” ซึ่งเป็นการออกแบบตกแต่งบ้านที่เน้นความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ การไม่ปรุงแต่ง และความไม่สมบูรณ์แบบต่าง ๆ ส่วนซีกโลกทางยุโรปมีฐานความคิดที่คล้ายกันอยู่ในวัฒนธรรมสวีเดนผ่านคำว่า “Lagom ärbäst” หมายความว่า ไม่มากไม่น้อยหรือความพอดีนั้นดีที่สุด ปรับเปลี่ยนรายละเอียดที่ซับซ้อนให้เรียบง่ายตามจังหวะของตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้กับไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงรูปแบบการสร้างบ้านสไตล์นอร์ดิกหรือสแกนดิเนเวียน ซึ่งเป็นเทรนด์การดีไซน์บ้านจากเขตหนาวที่กำลังเป็นที่นิยมแม้แต่ในโซนเขตร้อนชื้นอย่างบ้านเราด้วย

สไตล์นอร์ดิกคืออะไร

นอร์ดิก (Nordics) เป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ทางตอนเหนือของทวีปยุโรป อาทิ เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, นอร์เวย์และสวีเดน ดินแดนแถบนี้มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น รวมถึงเรื่องดีไซน์และสถาปัตยกรรมด้วย โดยเฉพาะรูปแบบอันโดดเด่นอย่างบ้านสไตล์ Modern Barn ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโรงนาหรือยุ้งฉางของเกษตรกรในแถบนั้น ภายในเน้นการเปิดพื้นที่ให้แสงสว่างส่องเข้ามาอย่างอบอุ่น ทำให้บ้านดูมีสุขภาพดี

เสน่ห์ของสถาปัตยกรรมแบบนอร์ดิก (Nordic Architecture) ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบที่ชวนหลงใหลอีกหลายประการ ที่ทำให้บ้านในรูปแบบนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็รวมไปถึงโครงการบ้านเดี่ยว ทิวเขาวิลเลจ โครงการบ้านสไตล์นอร์ดิกในจังหวัดพัทลุง ที่ดึงเอากลิ่นอายสไตล์นอร์ดิกมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบให้กลมกลืนกับภาคใต้ของไทยโดยนำเสนอ 3 เอกลักษณ์เด่น ดังนี้

1. เส้นสายเรขาคณิต

เอกลักษณ์ที่เห็นได้ชัดเจนของบ้านสไตล์นอร์ดิก คือ การออกแบบตัวอาคารลักษณะเป็นทรงเรขาคณิตที่ดูเรียบง่าย หมดจดสะอาดตา ไม่มีรายละเอียดที่ซับซ้อนหรือเกินความจำเป็น หลังคาจั่วทรงสูง ไม่มีชายคา เส้นสายที่ง่าย ๆ นี้ทำให้แบบบ้านสแกนดิเนเวียนถูกมองว่าเป็นฝาแฝดของบ้านสไตล์มินิมอล โครงการนี้สถาปนิกเน้นสร้างเส้นสายทางสถาปัตยกรรมจากพื้นขึ้นไปสู่จั่วหลังคาให้เป็นเส้นนำสายตาดึงดูดความสนใจ โดยการออกแบบผนังด้านนอกให้ต่างระดับกัน

2. หลังคาจั่วสูง ไร้ชายคา

ลักษณะเฉพาะของโครงหลังคาบ้านสไตล์ Modern Barn คือการยกจั่วสูงที่ทำให้หลังคาลาดชันเพื่อให้หิมะไม่คงค้างสร้างความชื้นบนหลังคา ในส่วนนี้สถาปนิกได้ออกแบบหลังคาให้ทำมุม 40 องศา ซึ่งความลาดเอียงในระดับที่มากกว่าปกติจะช่วยให้น้ำฝนไหลลงด้านล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่เกิดน้ำขังบริเวณหลังคาจนเกิดการรั่วซึมได้ง่าย นอกจากนี้โครงหลังคาที่สูงยังช่วยให้ภายในตัวบ้านโปร่งโล่ง อากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงได้ดี หากเสริมช่องระบายอากาศเพิ่มจะเอื้อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ภายในบ้านอยู่เย็นสบายตลอดเวลา

3. สีสันอิงธรรมชาติ

สไตล์นอร์ดิกมีจุดเริ่มต้นจากภูมิภาคเมืองหนาว นอกจากต้องการพื้นที่รับแสงภายในเพื่อลดความหนาวเย็นแล้ว ยังต้องการสร้าง “บรรยากาศ” ของความเรียบง่าย สงบ อบอุ่นและผ่อนคลายแก่ผู้อยู่อาศัย จึงมักตกแต่งด้วยโทนสีกลาง ๆ ที่เชื่อมโยงกับสีสันของธรรมชาติ อาทิ การใช้โทนสีขาวเป็นสีพื้น, สีโมโนโครมเทาไล่เฉด, สีเอิร์ธโทนอย่างสีน้ำตาลของไม้ เป็นต้น โครงการบ้านเดี่ยว ทิวเขาวิลเลจ เลือกวัสดุผนังที่คุมโทนเช่นกัน โดยปูแผ่นไม้ส่วนหนึ่ง อีกด้านหนึ่งปูด้วยแผ่นหิน ซึ่งวัสดุทั้งสองรูปแบบได้แรงบันดาลใจจากวัสดุตกแต่งบ้านตามสไตล์นอร์ดิก สะท้อนถึงอารมณ์อันสุขุม สอดคล้องกับวิถีชีวิตเรียบง่ายและรักในธรรมชาติที่เป็นคุณลักษณ์เด่นของชาวนอร์ดิกแบบดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี

ทุกรายละเอียดของบ้านผ่านการคิดประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศบ้านเรา รวมถึงเป็นการปรับให้เหมาะสมกับวิถีความเป็นอยู่ของคนไทยได้อย่างลงตัวที่สุด แม้จะมีต้นแบบมาจากบ้านเขตหนาวก็ตาม

เครดิต https://www.banidea.com/nordern-barn-prestige/