หลังจากซื้อบ้านแล้ว การตรวจรับบ้าน เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่เราจะเซ็นรับมอบบ้าน และเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ

การเตรียมตัว อุปกรณ์ และจุดที่ต้องเช็ก

หลังจากซื้อบ้านแล้ว การตรวจรับบ้าน เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่เราจะเซ็นรับมอบบ้าน และเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ เพราะต้องใช้ความรู้และความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าตัวบ้านสมบูรณ์ที่สุด

หากตัวบ้านมีตำหนิ ก็สามารถแจ้งให้โครงการแก้ไขได้ทันท่วงที  เพราะหากเซ็นรับมอบบ้านไปแล้ว โครงการอาจซ่อมแซมให้ล่าช้า หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านที่ไม่จำเป็นเลย

เพราะฉะนั้น หากคิดจะไปตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง โดยไม่ผ่านบริษัทรับตรวจบ้านแล้ว ก็ต้องวางแผน เตรียมอุปกรณ์ และศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนที่สุด ซึ่งเราได้เตรียมไว้ให้คุณที่นี่แล้ว

รูปที่ 1 ภายในบทความตรวจรับบ้าน

การเตรียมตัวก่อนไปตรวจรับบ้าน

  • ตรวจสอบสัญญาจะซื้อจะขาย และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้แน่ใจอีกครั้ง
  • นัดวันและเวลาเข้าไปตรวจรับบ้านกับเจ้าหน้าที่โครงการ (ควรนัดช่วงเช้า เพื่อให้มีแสงเพียงพอสำหรับการตรวจ และใช้เวลาได้เต็มที่)
  • เตรียมรายละเอียดโครงการ เช่น ขนาดพื้นที่ เฟอร์นิเจอร์ วัสดุที่ใช้ ฯลฯ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับตัวบ้านจริง
  • ควรไปตรวจรับบ้านอย่างน้อย 2 คน ขึ้นไป เพื่อจะได้ช่วยกันตรวจสอบ

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมสำหรับตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง

  1. ดินสอ / ปากกา และสมุดโน้ต: ใช้จดรายละเอียดต่าง ๆ
  2. กระดาษ Post-it / เทปกาวชนิดลอกง่าย: ใช้มาร์กจุดที่ต้องให้ช่างแก้ไข
  3. ไฟฉาย: ใช้ส่องเพื่อเช็กสีและความเรียบของพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ผนัง กระเบื้อง ระดับฝ้าเพดาน ฯลฯ
  4. ตลับเมตร / สายวัด: ใช้วัดพื้นที่ว่าตรงตามแบบบ้านหรือไม่
  5. ดินน้ำมัน / ถุงพลาสติก: ใช้สำหรับปิดรูระบายน้ำ เพื่อเช็กการรั่วซึมในห้องน้ำ
  6. ถังน้ำ / สายยาง: ใช้เพื่อทดสอบการรั่วซึมของขอบยางประตู หน้าต่าง และการระบายน้ำ
  7. ไขขวงด้ามไม้ / เหรียญสิบ / ค้อนหัวยาง: ใช้เคาะกระเบื้องเพื่อเช็กความแน่นของปูนกาวใต้กระเบื้อง
  8. กระจกบานเล็ก: ใช้สำหรับส่องเช็กความเรียบร้อยของขอบบานประตูด้านบน ซึ่งเป็นจุดอับสายตา
  9. บันได: ใช้สำหรับขึ้นไปตรวจเช็กเหนือฝ้าเพดาน (อาจติดต่อขอยืมจากทางโครงการ)
  10. เครื่องตรวจสอบเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วไหล (ELCB Tester) / ไขควงวัดไฟ: ใช้เช็กความผิดปกติของเต้ารับ (ควรศึกษาวิธีใช้งานอย่างละเอียด หรือให้ผู้เชี่ยวชาญทดสอบ)

จุดยอดฮิตที่ต้องเช็กก่อนตรวจรับบ้าน

1. ภายนอกบ้าน

  • ประตูรั้ว

ควรตรวจดูตามขอบมุมประตูให้ดี รอยเชื่อมต้องไม่มีรู และทาสีกันสนิมเรียบร้อย โดยเฉพาะขอบประตูด้านล่าง และควรทดสอบว่าโครงสร้างประตูแข็งแรงหรือไม่ ล้อและบานเลื่อน ไม่ฝืดหรือลื่นจนเกินไป

  • พื้นที่รอบบ้าน ที่จอดรถ

ที่จอดรถแบบที่อยู่ภายนอกโครงสร้างบ้าน มักจะทรุดตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเป็นที่จอดรถแบบอยู่ภายในโครงสร้างบ้านก็จะไม่เกิดปัญหานี้ แต่พื้นที่รอบบ้านก็อาจจะทรุดตัวได้อยู่ดี

ปัญหาดินทรุดตัวตรวจสอบได้ยาก ผู้ซื้ออาจต้องเตรียมใจไว้ล่วงหน้า แต่หากเป็นโครงการบ้านที่สร้างเสร็จสักพักแล้ว ก็อาจจะช่วยให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

2. โครงสร้างบ้าน

  • ผนัง

ผนังควรเรียบ ได้ระนาบ ไม่มีรอยร้าว ทั้งรอยร้าวเล็ก ๆ (รอยร้าวลายงา) ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้าง แต่อาจทำให้น้ำซึมเข้าได้ และรอยร้าวขนาดใหญ่ในแนวดิ่งหรือแนวเฉียง ซึ่งจะเป็นปัญหาโครงสร้างที่ต้องให้โครงการดำเนินการแก้ไข

ส่วนงานสีผนัง และวอลเปเปอร์ ก็สามารถใช้ไฟฉายส่องดูความเรียบเนียนได้ หากวอลเปเปอร์มีเชื้อรา การเปลี่ยนแผ่นไม่สามารถช่วยได้ จำเป็นต้องแก้ไขสาเหตุที่แท้จริง เช่น อาจเกิดจากความชื้นจากห้องน้ำ ผนังรั่วซึม ฯลฯ

  • ประตู หน้าต่าง 

ทดสอบการรั่วซึมโดยการฉีดน้ำ และดูว่าขอบมุมวงกบมีน้ำรั่วซึมเข้าไปด้านในหรือไม่ สำหรับบานประตูควรใช้กระจกส่องดูขอบด้านบนว่าทาสีเรียบร้อยหรือไม่ เพราะหากโดนฝนหรือมีความชื้น ประตูอาจจะบวมจนปิดไม่สนิท

  • กระเบื้อง

พื้นกระเบื้องต้องเรียบ ไม่ล่อนหรือบิ่น สามารถทดสอบโดยการเคาะแล้วฟังเสียงหรือสัมผัส หากเคาะแล้วกระเบื้องมีเสียงแตกต่างจากแผ่นอื่น หรือกระเบื้องสั่น ก็แปลว่าปูนกาวใต้กระเบื้องไม่แน่น เพื่อความแน่ใจ ควรเคาะทดสอบกระเบื้องให้ทั่วทั้งแผ่นและทุกแผ่น

  • บันได

บันไดแต่ละขั้นต้องมีขนาดเท่ากัน ราวบันไดแข็งแรง หากเป็นพื้นลามิเนต ก็ต้องทดสอบการยุบตัว

โดยการลองเหยียบดู หากพื้นยุบมาก หรือยุบจนขอบเผยอ ก็ต้องให้โครงการแก้ไข

  • ฝ้าเพดาน และหลังคา

ฝ้าเพดานต้องเรียบ ไม่แอ่นหรือโค้งงอ เราสามารถตรวจสอบการรั่วซึมของฝ้าเพดานและหลังคา โดยต้องปีนขึ้นไปดูเหนือฝ้า ควรเช็กความเรียบร้อยของการเดินสายไฟ ฉนวนกันความร้อน และคราบน้ำรั่ว

รูปที่ 2 ภายในบทความตรวจรับบ้าน

3. ระบบน้ำและสุขาภิบาล

  • ห้องน้ำ

หากเป็นห้องน้ำชั้น 2 ควรอุดรูระบายด้วยดินน้ำมันหรือถุงพลาสติก แล้วปล่อยให้น้ำขังเพื่อดูว่ามีน้ำซึมหรือไม่

นอกจากนี้ยังควรเช็กการใช้งานของชักโครก ความเร็วในการระบายน้ำของรูระบายและอ่างล่างหน้า และหากมีการแยกโซนเปียกและแห้ง ก็ควรลองฉีดน้ำดูว่ามีน้ำซึมผ่านขอบบานกั้นหรือไม่

  • ถังน้ำดี บ่อพักน้ำเสีย ถังบำบัด ปั๊มน้ำ

ถังน้ำดี บ่อพักน้ำเสีย ถังบำบัด ที่ดีควรมีสภาพดีทั้งภายนอกและภายใน ไม่มีเศษขยะ ส่วนปั๊มน้ำ ควรทดสอบโดยการฟังเสียงการทำงาน ดูรอยรั่วซึม และเช็กว่าได้ต่อสายดินเรียบร้อยหรือไม่

4. ระบบไฟฟ้า

  • สวิตช์ไฟ และเต้ารับ

ควรทดลองใช้งานดูทุกจุด สำหรับเต้ารับ ควรใช้เครื่องตรวจสอบเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วไหล (ELCB Tester) ทดสอบความถูกต้องของการเดินสายไฟ สายดิน และระบบตัดไฟ

  • ตู้ไฟ

สำหรับการตรวจตู้ไฟ ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจ เพราะวิธีการเดินสายไฟ สีและขนาดสายไฟ มีผลต่อความปลอดภัยในการชีวิตและการดูแลรักษาทั้งสิ้น

สรุป

สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอในระหว่างและหลังการตรวจรับบ้าน ก็คือ ควรจดบันทึกจุดตำหนิให้ครบถ้วน ทั้งการมาร์กจุดที่ตัวบ้าน และข้อมูลหรือรูปถ่ายที่เก็บไว้กับตัว เนื่องจากจะต้องใช้เปรียบเทียบอีกครั้ง หลังจากที่โครงการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

การตรวจรับบ้านมีรายละเอียดที่ไม่น้อยเลยจริง ๆ แต่หากศึกษาและเตรียมตัวอย่างดี มือใหม่อย่างเราก็สามารถจัดการเองได้ เท่านี้ก็เหลือแค่การเซ็นรับมอบ และตกแต่งบ้านอีกนิดหน่อย ก็เข้าอยู่ได้อย่างสบายใจแล้ว

Cr. https://blog.ghbank.co.th/what-to-do-about-home-inspection/